วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

เตรียมการก่อนวางท่อประปา

        การเตรียมงานในงานวางท่อประปามีความสำคัญเป็นอย่างมาก งานจะช้าหรือเร็วก็อยู่ในขั้นตอนนี้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ก่อนวางท่อประปาต้องตรวจสอบอุปกรณ์ท่อล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7วัน
2. ทำหนังสือแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้ทราบหรือร่วมตรวจสอบแนวที่จะขุดวางท่อประปา
3. จัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยให้พร้อม เช่น ป้ายเตือน ไฟไซเรน ธงเซฟตี้ กรวยยาง
4. จุดเริ่มต้นการวางท่อควรใกล้แหล่งน้ำมากที่สุดก่อนเพื่อสะดวกต่อการเติมน้ำเข้าท่อเพื่อทดสอบ



วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2561

ขั้นตอนในการวางท่อประปา

ขั้นตอนในการวางท่อประปาสรุปได้ดังนี้
1. สำรวจและกำหนดแนวขุดวางท่อประปาให้ชัดเจน และตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. ตีเส้นให้ชัดเจนและใช้เครื่องตัดคอนกรีตตามแนวท่อให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร (ถ้ามี)
3. ทุบคอนกรีตตามแนวขุดวางท่อประปา(ถ้ามี)
  • กรณีเป็นทางเท้าหน้าบ้าน ใช้รถแบคโฮชนิดติดตัวแย๊กเนื่องจากการวางท่อในเมืองมักจะเจอคอนกรีต 2 ชั้น การใช้รถแบคโฮจะเหมาะสมกว่า
  • หากเป็นถนนช่วงยาวๆควรใช้รถทุบคอนกรีตเพราะจะเร็วกว่าการใช้หัวแย๊ก
  • การใช้เครื่องลมแย๊กควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากสิ้นเปลืองค่าแรงและทำงานได้ช้า
4. ใช้เครื่องจักรตักเศษคอนกรีตใส่รถหกล้อดั๊มนำไปทิ้ง หากเป็นท่อขนาดเล็ก 100 – 150 มม. ควรใช้แรงงานขนเก็บไว้เป็นกองๆรอรถมาตักเป็นครั้งๆ
5. ใช้แรงงานหรือเครื่องจักรขุดร่องดินให้ได้ความลึกหลังท่อตามกำหนดและความกว้างห่างจากข้างท่อข้างละไม่น้อยกว่า 0.15 เมตรหรือตามความเหมาะสมเพื่อให้เครื่องบดอัดสามารถทำงานได้
6. ใช้แรงงานช่วยปรับดิน(หรือทรายหากในโครงการกำหนดให้กลบด้วยทราย)ในร่องท่อให้ได้ระดับ และต้องระวังไม่ให้มีเศษคอนกรีต ก้อนหิน กรวด อยู่ในแนวร่องท่อ หากมีต้องเก็บออกจากร่องท่อให้หมด
7. ก่อนยกท่อประปาลงร่องดินต้องตรวจสอบท่อว่าไม่แตก รั่ว ชำรุดเสียหาย จากนั้นจึง
  • ใช้แรงงานคนยกท่อประปาขนาด 100 – 250 มม.
  • ใช้เครื่องจักรพร้อมสายพานยกท่อ ขนาด 300 – 400 มม.
วางลงในร่องดินหรือทรายที่ปรับบดอัดแล้ว ตาม ข้อ 6และดำเนินการต่อท่อแต่ละท่อน
8. ก่อนการต่อท่อแต่ละท่อนต้องทำความสะอาดบริเวณข้อต่อ ,ภายในท่อแต่ละท่อนให้สะอาดเสียก่อน
9. กลบหลังท่อ,ข้างท่อด้วยทราย ประมาณ 0.15 ม. โดยรอบหากในโครงการระบุให้ใช้(หากไม่ระบุให้ใช้ดินร่วนกลบแทน) ต้องอัดและกระทุ้งดิน/ทรายให้แน่น ซึ่งต้องระวังไม่ให้เกิดอันตรายกับท่อที่วางไว้แล้ว โดยทำการบดอัดหลังท่อเป็นชั้นๆจนถึงระดับชั้นผิวทางเดิม
10. เมื่อเลิกหรือหยุดงานในแต่ละวัน จะต้องอุด/ปิดปลายท่อ เพื่อป้องกันเศษขยะ ดิน ไหลเข้าไปในท่อ
11. ทำการทดสอบแรงดันน้ำในเส้นท่อเป็นช่วงๆ ความยาวที่ทดสอบกำหนดขณะก่อสร้าง
12. ทำการซ่อมผิวทางหรือทางเท้าคืนตามสภาพเดิม












วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561

ข้อห้ามและไม่ควรทำในการวางท่อประปา

       ถ้าหากคิดจะรับเหมาวางท่อประปาผมขอแนะนำว่าเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังจึงไม่ควรทำในสิ่งต่อไปนี้
1. ห้ามใช้ลวดสลิงหรือโซ่ในการยกท่อประปา
2. การวางท่อประปาในทางเท้า/ถนน ควรใช้ทรายหยาบกลบไม่ควรใช้ทรายด้อยคุณภาพ(ขี้เป็ด) เพราะเมื่อทรายเจอะฝนตกภายหลังจะทำให้ทางเท้าหรือถนน ทรุดตัว และเสียหายแก่ส่วนรวม
3. ห้ามวางท่อประปาโดยเด็ดขาด กรณีตรวจพบว่าในร่องท่อมีเศษคอนกรีต หิน กรวด
4. ไม่ควรวางท่อประปาในช่วงสั้นๆ เช่น เว้นท่อตามซอยต่างๆ เนื่องจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากๆๆ
5. ห้ามใช้เครื่องจักรดันปลายท่อเพื่อต่อท่อในแต่ละท่อนโดยตรง เพราะแรงดันจากเครื่องจักรจะทำให้ท่อแตกเสียหายได้ง่าย




วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทำไมต้องใช้ท่อ HDPE เป็นท่อน้ำดื่ม

     ปัจจุบัน ในการวางท่อประปาจะแบ่งชั้นคุณภาพของท่อ HDPE ออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ
- ชั้นคุณภาพที่ 1 โพลีเอทิลีน (HDPE 63) ไม่นิยมใช้ คุณภาพต่ำ
- ชั้นคุณภาพที่ 2 โพลีเอทิลีน (HDPE 80) นิยมใช้ คุณภาพปานกลาง
- ชั้นคุณภาพที่ 3 โพลีเอทิลีน (HDPE 100) นิยมใช้ คุณภาพดีสุด
คุณสมบัติเด่นของท่อ HDPE สำหรับใช้เป็นท่อน้ำดื่มในงานประปา ด้วยเหตุผลดังนี้
- ไม่เป็นสนิม ทนการกัดกร่อน จากเคมี เป็นวัสดุทึบแสง ไม่มีสารปนเปื้อน
- อายุการใช้งานยาวนานถึง 50 ปี
- การติดตั้งทำได้ง่ายโดยเชื่อมด้วยแผ่นความร้อน
- เลือกใช้ได้ตามแรงดันที่ต้องการเนื่องจากทนแรงดันได้ถึงสูงถึง 25 บาร์
- มีน้ำหนักเบา ขนส่งได้สะดวก
- มีความยืดหยุ่น ขณะขุดวางทำได้ง่าย กว่าท่อเหล็กและท่อพีวีซี

แต่อย่างไรก็ตาม ท่อ HDPE มีข้อเสีย กล่าวคือ ถ้าหาก แตก ชำรุด แล้วการซ่อมจะทำได้อยากกว่าท่อพีวีซีและท่อเหล็ก เนื่องจากต้องใช้เครื่องเชื่อมสำหรับเชื่อมท่อพีอีเท่านั้น





วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

ขั้นตอนการเชื่อมท่อ HDPE

การต่อท่อ HDPE โดยวิธีการเชื่อม ซึ่งมี 2 แบบ คือ
1. เชื่อมแบบธรรมดาใช้คนควบคุม กล่าวคือ เราต้องคำนวณค่าต่างๆไว้ก่อน และต้องจับเวลา ตามระยะเวลาที่คำนวณได้ ทำให้การเชื่อมผิดพลาดได้ง่าย
2. เชื่อมแบบใช้เครื่องควบคุม(data logger) เมื่อป้อนข้อมูลลงเครื่อง data loggerเสร็จ เครื่องก็จะจัดการขั้นตอนการเชื่อมให้ทั้งหมด
ทั้งสองวิธีมีหลักการเชื่อมที่เหมือนกัน พอสรุปได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เลือกใส้ประกับให้เหมาะสมกับขนาดท่อ ขันน๊อตยึดแคล้มป์ให้แน่นเพื่อรัดท่อพร้อมจับท่อให้อยู่ในแนวเส้นตรง โดยให้ปลายท่อยื่นออกจากแคล้มป์ประมาณ 30 -50 มม. และให้เหลื่อมกันไม่เกิน 10 % ของความหนาท่อ
ขั้นตอนที่ 2 ใส่ตัวปาดหน้าท่อระหว่างปลายท่อทั้งสองด้าน เดินเครื่องตัวปาดหน้าท่อ ค่อยๆเลื่อนปลายท่อเข้าหาตัวปาดหน้าท่อโดยใช้ระบบไฮโดรลิคควบคุม และจะต้องให้ใบมีดปาดหน้าท่อทั้งสองด้านให้เรียบเสมอกัน
ขั้นตอนที่ 3 ใส่แผ่นความร้อนระหว่างปลายท่อทั้ง 2 ด้าน ใช้แรงดันจากปั๊มไฮโดรลิคดึงปลายท่อทั้ง สองด้านเข้าชนกับแผ่นความร้อนจนกระทั่งปลายท่อทั้งสองด้านเริ่มละลายเป็นตะเข็บกว้างโดยใช้ระยะเวลาตามค่าพารามิเตอร์ที่คำนวณหรืออ่านได้จากเครื่องดาต้าล๊อคเกอร์
ขั้นตอนที่ 4 เลื่อนปลายท่อออกจากแผ่นความร้อนและยกแผ่นความร้อนออก เลือนปลายท่อเข้าหากันโดยใช้แรงงดันเชื่อมและระยะเวลาเชื่อมตาม ค่าพารามิเตอร์ที่คำนวณหรืออ่านได้จากเครื่องดาต้าล๊อคเกอร์
ขั้นตอนที่ 5 เมื่อเชื่อมท่อเสร็จแล้วให้ถอดแค้มป์ออก และเลื่อนท่อออกจากเครื่องเชื่อม จากนั้นจึงเชื่อมท่อนถัดไป







วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

ค่าแรงในการเชื่อมท่อ HDPE

         ในการเชื่อมท่อ HDPE นั้น ผู้ที่เชื่อมได้ต้องผ่านการฝึกอบรมการเชื่อมท่อ HDPE ให้เกิดความชำนาญและเข้าใจวิธีการเชื่อมที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน ช่างเชื่อมท่อ HDPE ยังขาดแคลนอยู่มาก และทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้จัดอบรมเป็นช่วงๆ
ปัจจุบันค่าแรงเชื่อมท่อ HDPE พอสรุปเบื้องต้นได้ดังนี้
- ท่อ HDPE ขนาด 110 มม. เมตรละ  70    บาท
- ท่อ HDPE ขนาด 160 มม. เมตรละ  90    บาท
- ท่อ HDPE ขนาด 200 มม. เมตรละ 105   บาท
- ท่อ HDPE ขนาด 225 มม. เมตรละ 125   บาท
- ท่อ HDPE ขนาด 315 มม. เมตรละ 155   บาท
- ท่อ HDPE ขนาด 450 มม. เมตรละ 175   บาท
- ท่อ HDPE ขนาด 500 มม. เมตรละ 245  บาท
     ทั้งนี้ราคาจะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่เชื่อม  ระยะทางการทำงาน   สภาพพื้นที่ก่อสร้าง   (ราคาดังกล่าวไม่รวมค่าทดสอบน้ำ รถยกท่อเชื่อม )








วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทำไมต้องใช้ Ductile Cast Iron ในงานวางท่อ HDPE

        เหล็กหล่อ เป็นโลหะผสมระหว่างเหล็กกับคาร์บอน ซึ่งมีคาร์บอนผสมอยู่มากกว่า 2% (ที่ใช้งานจริงมักอยู่ในช่วง 2.5-4.0%) ธาตุผสมที่สำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือ ซิลิคอน นอกจากนี้ก็ยังมี แมงกานีส กำมะถันและฟอสฟอรัส
เราอาจจะจำแนกเหล็กหล่อตามลักษณะของคาร์บอนในเหล็กหล่อนั้น ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้คือ
1) เหล็กหล่อเทา (Gray Cast Iron)
2) เหล็กหล่อขาว (White Cast Iron)
3) เหล็กหล่อเหนียว (Ductile Cast Iron) หรือเหล็กหล่อกราไฟท์กลม (Spheroidal Graphite Cast Iron)

1. เหล็กหล่อเทา (Gray Cast Iron)
คาร์บอนส่วนใหญ่ในเหล็กหล่อนี้ จะอยู่ในรูปของเกล็ดกราไฟท์ และส่วนที่เหลือจะอยู่ในโครงสร้างเพิร์ลไลท์ เหล็กหล่อเทาจึงนิ่ม ไม่เปราะนัก กลึงไสง่าย และทนการสึกหรอเนื่องจากการเสียดสีได้ดี มันจะไม่ทนต่อแรงดึง แต่ทนต่อแรงอัด การไหลลงในแบบหล่อที่บางได้ง่าย และการหดตัวเพียงเล็กน้อยตอนแข็งตัวของเหล็กหล่อเทานี้ ทำให้ได้ชิ้นงานหล่อออกมาส่วนงามมีความคมตามแง่มุมชัดเจน ฉะนั้นประมาณ 80% ของงานหล่อทั้งหมด จึงอยู่ในรูปของเหล็กหล่อเทา เช่นเครื่องยนต์ ที่ยึดรางรถไฟและฐานเครื่องจักรกลต่าง ๆ เป็นต้น
2. เหล็กหล่อขาว (White Cast Iron)
คาร์บอนทั้งหมดในเหล็กหล่อนี้จะอยู่ในรูปของซีเมนไตท์ เหล็กหล่อขาวจึงมีคุณสมบัติแข็งทนทานต่อการเสียดสี แต่เปราะ ไม่เหมาะกับการตัดหรือการกลึงไส
3. เหล็กหล่อเหนียว (Ductile Cast Iron) หรือเหล็กหล่อกราไฟท์กลม (Spheroidal Graphite Cast Iron)
โครงสร้างของเหล็กหล่อนี้คล้ายกับเหล็กหล่อเทา Ductile Cast Iron มีคุณสมบัติคล้ายกับเหล็กกล้ามาก คือ มีความแข็งแรงสูง มีความสามารถในการยืดตัวออกและสามารถขึ้นรูปได้ ใช้ทำชิ้นงานวิศวกรรม เช่น backing ring , สกรู-น๊อต ในงานวางท่อ HDPE เนื่องจากมีอายุการใช้งานได้นานกว่าการใช้เหล็กเหนียว