วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2567

การติดตั้งแอร์วาล์ว (Air Valve)

การติดตั้งแอร์วาล์ว(Air Valve)

     งานติดตั้งชุดแอร์วาล์วจะติดตั้งตรงตำแหน่งจุดสูงสุดของแนวท่อ หรือจุดปลายของตำแหน่งสะพานรับท่อมีวัตถุประสงค์เพื่อระบายอากาศในเส้นท่อ

ปัญหาที่เจอบ่อยคือ

1. พบว่าบางจุดในแบบแปลนไม่มีตำแหน่งติดตั้งแอร์วาล์วเมื่อวางท่อแล้วเสร็จน้ำประปาจะไม่ไหลเนื่องจากมีลมในเส้นท่อ ทำให้ต้องแจ้งผู้ควบคุมงานเพื่อคิดค่างานเพิ่มและต้องมาติดตั้งอีกครั้ง

2. ขณะติดตั้งแอร์วาล์วเสร็จเนื่องจากดินยังไม่แน่นเมื่อติดตั้งบ่อ คสล.เสร็จและทิ้งช่วงเวลาไม่นานบ่อ คสล.จะทรุดและเอียงทำให้ไปกดเสาแอร์วาล์วและสามทางแตกหรือฉีกขาดในที่สุด ดังนั้น ควรกดเสาเข็มไม้ไว้ที่สามทางตัวล่างและทั้งสี่มุมของบ่อ คสล.


วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567

การต่อท่อพีอีที่มีความหนาไม่เท่ากัน

           ในงานวางท่อพีอีท่อจะมีความหนาแตกต่างกันตามชนิดของ PN  ท่อพีอีที่มี PN สูงความหนาก็จะมีมากตามไปด้วย ในกรณีที่จำเป็นต้องต่อท่อพีอีที่มีความหนาต่างกัน (PN ต่างกัน) เช่นในกรณีที่ท่อพีอีเดิมที่วางไว้แล้วเป็นท่อ PN 6 ต่อกับท่อพีอี ที่ต้องการวางใหม่เป็น PN 10 การต่อท่อพีอีลักษณะดังกล่าว จะต้องต่อด้วยแบบหน้าจาน (ใช้สตับเอ็นและแบคกิ้งริง) เนื่องจากไม่สามารถทำการเชื่อมชนได้เพราะความหนาต่างกันทำให้พื้นที่หน้าตัดท่อเหลี่ยมกันมากเมื่อเชื่อมแล้วท่อพีอีจะใช้งานได้ไม่นานก็จะแตกเสียหายได้

       ปัญหาที่ความหนาท่อพีอีไม่เท่ากันสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ได้แก่

    1.  ท่อที่ผลิตจากโรงงานไม่ได้มาตรฐานมีลักษณะเบี้ยวไม่กลมและมีความหนาไม่เท่ากัน   ดังนั้นก่อนการเชื่อมท่อพีอีต้องตัดท่อที่มีลักษณะดังกล่าวออกเสียก่อน เพื่อจะให้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง

    2.  ท่อพีอีที่ใช้ความดันที่สูงเมื่อใช้งานไประยะหนึ่งแล้ว   ท่อพีอีจะมีขนาดโตกว่ามาตรฐานเล็กน้อยประมาณ 3-5% ของความหนาท่อ   เช่น ขนาดมาตรฐาน OD500 มม.เมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่งจะมีขนาด OD501 มม. ดังนั้นในการต่อท่อพีอีเดิมกับท่อพีอีใหม่ต้องต่อท่อพีอีด้วยหน้าจานเท่านั้น

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2567

การวางท่อเหล็กเหนียวใต้ดินแบบต่อท่อด้วยหน้าจาน


        การวางท่อเหล็กเหนียวใต้ดินแบบต่อท่อด้วยหน้าจานเหล็กเหนียวตาดี ใช้สำหรับท่อแบบปลายเรียบทั้ง 2 ด้าน นิยมใช้กับท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 700 มม.    การต่อท่อเหล็กเหนียวใต้ดินด้วยหน้าจานตาดีส่วนใหญ่จะใช้สำหรับติดตั้งร่วมกับอุปกรณ์ เช่น สามทาง ท่อโค้ง ประตูน้ำ ท่อลด ส่วนการต่อท่อระหว่างท่อแต่ละท่อนมักไม่ค่อยนิยมโดยเฉพาะการวางท่อในยานชุมชน เนื่องจากในย่านชุมชนจะมีสิ่งกีดขวางใต้ดินจำนวนมาก เช่น ท่อระบายน้ำ ทอประปาเดิม ซึ่งการทำงานจะยากและช้ากว่าการต่อด้วยแมคนานิคคัพปิ้ง การต่อท่อด้วยหน้าจานเหล็กเหนียวตาดีก่อนที่จะเริ่มขุดวางท่อจะต้องเตรียมการโดยเชื่อมหน้าจานติดกับปลายท่อทั้งสองด้านไว้ก่อน ปัญหาที่เจอในขณะก่อสร้างคือ หากเชื่อมหน้าจานไม่ได้ระดับ เอียงซ้ายหรือขวาเมื่อประกอบท่อแต่ละท่อนแล้วจะทำให้ระดับไม่ได้ ประกอบยาก ทางที่ดีควรสั่งเชื่อมหน้าจานมาจากโรงงานน่าจะดีกว่า ยกเว้นกรณีติดกับอุปกรณ์ท่อให้เชื่อมหน้าจานในสนาม หากเชื่อมก่อนเมื่อประกอบท่อกับอุปกรณ์จะทำให้รูหน้าจานไม่ตรงกัน ซึ่งจะเจอบ่อยมาก จึงทำให้ทำงานได้ช้า การวางท่อเหล็กเหนียวใต้ดินโดยต่อท่อด้วยหน้าจานเหล็กเหนียวตาดี
ซึ่งมีวิธีการทำงานดังนี้
1. ขุดร่องดินจนได้ความลึกตามต้องการ
2. ใช้แรงงานปรับบดอัดดินในร่องดินให้ได้ระดับ
3. วัดระยะความยาวปลายท่อท่อนที่ 1 ว่าอยู่ตรงจุดไหน เมื่อได้แล้วให้ขุดหลุมให้ลึกจากระดับท้องท่อท่อนที่ 1 ประมาณ 30 ซม. โดยให้ห่างจากปลายท่อท่อนที่ 1 และ 2 ข้างละ 50 ซม.
4. ยกท่อท่อนที่ 1 โดยใช้สายพานยกท่อลงในร่องดิน
5. ทำความสะอาดหน้าจานด้านที่จะใส่ประเก็นยางให้สะอาดโดยใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาด
6. ยกท่อท่อนที่ 2 ลงในร่องดินที่ขุดเตรียมไว้แล้ว ทำความสะอาดหน้าจานท่อท่อนที่ 2 โดยใช้ผ้าเช็ดให้สะอาด
7. ใส่น๊อตหน้าจานท่อท่อนที่ 1 ประมาณ 4 ตัวลักษณะเป็นมุม 90 องศา
8. ใส่ประเก็นยางในน๊อตข้อที่ 7.
9. ใช้รถยกท่อท่อนที่ 2 ให้พ้นจากระดับดินเล็กน้อยแล้วใช้แรงงานจับปลายท่อท่อนที่ 2 ค่อยๆดันท่อท่อนที่ 2 เข้าไปหาท่อท่อนที่ 1 โดยใช้น๊อตทั้ง 4 เป็นตัวบังคับ
10. ใส่น๊อตส่วนที่เหลือเพิ่มเติมโดยให้สลับหัว-สลับท้ายแล้วใช้ประแจหรือบล๊อคลมขันน๊อตทุกๆตัวให้แน่น
11. ทำตามลำดับที่ 3 ถึง 10 จนเสร็จ
12. เมื่อวางได้ความยาวพอประมาณให้ปิดหน้าจานตาบอดเพื่อเติมน้ำและทดสอบน้ำต่อไป

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567

การเลือกวิธีงานดันท่อลอด

งานท่อลอดถนนโดยทั่วไปมี 2 วิธี ได้แก่  PIPEJACKING และ Horizontal Directional Drilling

1. PIPEJACKING เป็นการดันท่อปลอกเหล็กโดยการดันท่อและเชื่อมต่อท่อเป็นท่อนๆละประมาณ 3 ถึง 6 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ก่อสร้างด้วย แบ่งเป็น  2 ประเภท

  1.1 การดันท่อปลอกเหล็กโดยอาศัยแม่แรงโฮโดรลิคดันท่อปลอกเหล็กโดยตรง การดันด้วยวิธีนี้การทำงานจะทำได้ค่อนข้างช้าใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ไม่มากนัก

  1.2 การดันท่อปลอกเหล็กโดยอาศัยใบเจาะ (Auger) เจาะดินออกมา การดันท่อด้วยวิธีนี้จะทำได้เร็วมากแต่จะใช้เครื่องมือและอุปกรณ์มากตามไปด้วย

ข้อดี ของการดันท่อลอด

1. ต้องการพื้นที่ในการทำงานไม่มาก

2. เหมาะกับพื้นที่ที่มีสาธารณูปโภค ต่างๆก่อนแล้ว

ข้อเสีย ของการดันท่อลอด

1. ไม่สามารถดันท่อได้ยาวมากนัก

2. ควบคุมทิศทางในการดันได้ยาก ไม่แน่นอน ต้องใช้ผู้ที่เชียวชาญโดยเฉพาะ

2. Horizontal Directional Drilling เป็นการเจาะดึงท่อเหล็ก,HDPE

ข้อดี  ของHorizontal Directional Drilling (HDD)

  1. ไม่จำเป็นต้องเปิดบ่อก่อสร้าง

  2.  เหมาะกับการวางท่อที่มีระยะยาวมากกว่า 100 เมตรขึ้นไป

  3.  สามารถกำหนดความลึกและทิศทางของปลายท่อได้แม่นยำ

ข้อเสีย ของHorizontal Directional Drilling (HDD)

1. ใช้พื้นที่ในการทำงานมาก

2. ก่อนการดึงท่อจะต้องเชื่อมท่อให้มีความยาวต่อเนื่องเท่ากับความยาวที่ต้องการทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2567

การทดสอบแรงดันน้ำ(Pressure Test) ในเส้นท่อ

     ในงานวางท่อประปาจะประกอบด้วยงานขุดวางและงานทดสอบแรงดันน้ำ(Pressure Test) ในเส้นท่อ และนับว่าเป็นส่วนที่สำคัญรองจากงานวางท่อ ซึ่งขณะวางท่อต้องวางแผนการทดสอบน้ำตามจุดที่ขุดวางท่อตามไปด้วย ไม่ควรปล่อยไว้ยาวๆแล้วจึงทดสอบ เพราะว่ามีปัญหามากๆ     การทดสอบแรงดันในเส้นท่อเป็นการทดสอบการรั่วซึมของข้อต่อว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้หรือไม่ โดยยึดถือปริมาณการรั่วซึมสูงสุดที่ยอมให้เป็นเกณฑ์ ซึ่งได้มาจากการคำนวณหรือกราฟ ในงานทดสอบแรงดันน้ำในเส้นท่อปกติต้องเติมน้ำในเส้นท่อไว้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แล้วจึงทำการทดสอบความดันน้ำ สำหรับอุปกรณ์ที่สำคัญขาดเสียมิได้นั้นก็คือ

1. เกจวัดความดัน (Pressure Gage) สำหรับอ่านค่า ซึ่งก่อนการใช้งานต้องปรับตั้งค่าให้เที่ยงตรงก่อน

2. เกตุวาล์วสำหรับควบคุมการปล่อยน้ำเข้าและจ่ายน้ำออกตามขั้นตอนของการทดสอบ พร้อมทั้งติดตั้งจุดระบายอากาศที่ต้นทาง

3. มาตรสำหรับวัดปริมาตรน้ำที่เติมเข้าไปและปล่อยออกตามขั้นตอนแต่ละช่วงของการทดสอบ

4. ที่ตำแหน่งปลายท่อต้องติดตั้งจุดระบายอากาศ หรือจุดอื่นๆที่จำเป็น กรณีท่อที่ทดสอบนั้นเปลี่ยนแปลงระดับมาก


clip_image002

          ตัวอย่างจุดทดสอบแรงดันน้ำในเส้นท่อ